Brother ผู้ผลิตเครื่องพิมพ์ชั้นนำรายล่าสุดที่กำลังเผชิญเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการจำกัดการใช้งานวัสดุสิ้นเปลืองจากผู้ผลิตรายอื่น (third-party consumables) โดยมีข้อกล่าวหาว่าบริษัทได้อัปเดตเฟิร์มแวร์เพื่อบล็อกหรือทำให้ประสิทธิภาพการพิมพ์ด้อยลง เมื่อใช้โทนเนอร์ที่ไม่ใช่ของแท้ (non-OEM)
Louis Rossmann นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิในการซ่อมแซมและช่างอิเล็กทรอนิกส์ ได้ออกมาเปิดเผยผ่านวิดีโอว่า Brother ได้อัปเดตเฟิร์มแวร์โดยไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า ส่งผลให้เครื่องพิมพ์บางรุ่นไม่สามารถใช้งานฟีเจอร์สำคัญ เช่น การปรับแต่งสี ได้หากใช้โทนเนอร์จากผู้ผลิตรายอื่น อย่างไรก็ตาม หากเปลี่ยนมาใช้โทนเนอร์ของแท้จาก Brother ข้อจำกัดดังกล่าวจะถูกยกเลิก
รายงานจากผู้ใช้บนโซเชียลมีเดียในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สะท้อนถึงปัญหานี้ โดยมีลูกค้าหลายรายร้องเรียนว่าเครื่องพิมพ์ของพวกเขาเริ่มให้คุณภาพการพิมพ์ที่แย่ลงหลังจากอัปเดตเฟิร์มแวร์ แม้ว่าจะเคยใช้งานโทนเนอร์จากผู้ผลิตรายอื่นได้โดยไม่มีปัญหาก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ การย้อนกลับไปใช้เฟิร์มแวร์เวอร์ชันเก่ายังทำได้ยาก แม้แต่ผู้ที่มีความรู้ทางเทคนิค
Rossmann ยังระบุว่า ฝ่ายสนับสนุนของ Brother แนะนำให้ลูกค้าเปลี่ยนมาใช้โทนเนอร์ของแท้จากบริษัท เพื่อแก้ไขปัญหาคุณภาพการพิมพ์ ซึ่งเขามองว่าอาจเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการตอบคำถามของฝ่ายสนับสนุน มากกว่าที่จะแก้ปัญหาจริง ๆ
กรณีของ Brother คล้ายกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับ HP ซึ่งก่อนหน้านี้ต้องเผชิญกับคดีความจากการอัปเดตเฟิร์มแวร์ที่ปิดกั้นการใช้หมึกจากผู้ผลิตรายอื่นตั้งแต่ปี 2016 โดยในบางกรณี HP ถึงกับต้องจ่ายค่าชดเชย เพื่อยุติข้อพิพาทเกี่ยวกับ Dynamic Security Feature ที่ถูกเพิ่มเข้ามาในการอัปเดตเฟิร์มแวร์
ปัจจุบัน Brother ยังไม่ได้ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อกล่าวหาดังกล่าว แต่ปัญหานี้อาจกระทบต่อความไว้วางใจของลูกค้า และกระแสเรียกร้องเรื่อง สิทธิในการซ่อมแซม (Right to Repair) ซึ่งกำลังได้รับความสนใจมากขึ้นในปัจจุบัน
รายละเอียด – Theregister